วันศุกร์ที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐

ปริมาณกับคุณภาพ

เมื่อวานตอนเย็นผมได้คุยกับเด็กม.3คนนึง เด็กคนนั้นบ่นว่ามีรายงานที่อาจารย์พึ่งสั่งและให้ส่งวันจันทร์ ที่สำคัญต้องทำอย่างต่ำ100หน้า ในมุมมองของผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะให้เด็กมาทำรายงานในลักษณะแบบนี้เพราะไม่ได้เป็นการดึงศักยภาพใดๆในตัวเด็กออกมาเลย ท่านที่เป็นอาจารย์น่าจะทราบดีว่าทุกๆครั้งเด็กมักจะลอกมาส่ง ท่านจึงให้ใช้มือเขียนเพื่อหลีกเลี่ยงการcopy&paste โดยที่ท่านก็รู้อยู่ดีว่าการใช้มือเขียนนั้นก็ยังคงไปลอกมาอยู่ดี อาจจะดีตรงที่เหมือนกับเด็กได้อ่านทบทวนไปในตัวผมคิดว่าตรงนี้ถือว่าเหมาะสมแต่การที่ให้ทำในปริมาณที่มากเกินควรไม่ได้ช่วยอะไรเด็กเลย กลับเป็นการทำให้เด็กรู้สึกเบื่อหน่ายทำๆไปให้เสร็จ สรุปว่าไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยรายงานปึกใหญ่ๆนั้นก็ไร้คุณค่าทางวิชาการและจิตวิญญาณ

สมัยที่ผมเรียนม.5เทอมหนึ่ง มีวิชาที่เกี่ยวกับการทำธุรกิจหลายๆวิชาซึ่งผมชอบมากๆ เพราะไม่ได้เป็นการบังคับให้ต้องอ่านหรือทำรายงานอะไรที่เป็นเนื้อหาตายตัว มีอยู่วิชานึง อ.ชัชวาลย์ ธันวารชรเป็นผู้สอน การเรียนก็สบายๆ จนมาถึงช่วงสิ้นเทอมก็มีรายงานให้ทำ โดยให้เขียนเกี่ยวกับอาชีพในฝัน ด้วยความประมาทผมได้ปล่อยให้เวลาผ่านไปเรื่อยๆ แต่ผมก็ยังคงคิดว่าจะเขียนอะไรดีเพราะโจทย์นี้ค่อนข้างอิสระมากๆ เห็นเพื่อนๆหลายคนก็เข้าสมุดไปยืมหนังสือเกี่ยวทนายความบ้างหรืออาชีพต่างๆที่อยากเป็น ส่วนตัวผมอยากเป็นนักธุรกิจแต่จะทำอะไรดีล่ะ?
จนกระทั่งวันสุดท้ายผมคิดได้ว่าเอาร้านกาแฟเนี่ยแหละน่าจะดี คืนนั้นผมเอากระดาษเปล่ามานั่งคำนวณปริมาณลูกค้าที่น่าจะเข้ามาในร้านกาแฟและราคาขายเพื่อหารายได้เฉลี่ย แล้วผมก็โทรศัพท์ไปหาคุณพ่อเพื่อสอบถามค่าเช่าที่ตามห้างสรรพสินค้า ซึ่งคุณพ่อก็บอกมาอย่างละเอียด(บอกเป็นตารางเมตร) พอผมได้ทราบค่าเช่าผมก็มาคำนวณดูว่าคุ้มรึเปล่าซึงผลออกมาคุ้มมากๆ ผมจึงลงมือเขียนทันที ในระหว่างที่เขียนผมก็ได้ใส่ความคิดของผมลงไปอย่างเต็มที่ โดยที่ไม่ได้กางหนังสือเล่มใดๆออกมาดูเลย ผมออกแบบLogo(องค์ประกอบต่างในLogoมีความหมายหมดเลย) ชื่อร้าน(smile coffee ประเทศไทยเป็นเมืองยิ้มครับ)วางLocationและประมาณการทางตัวเลขทุกอย่างเท่าที่เด็กม.5พอจะนึกออก รายงานนั้นบางมากๆมีแค่12-14หน้ารวมปกหน้า-หลังอีกต่างหาก และแต่ละหน้าไม่ได้เขียนเต็มแผ่น เขียนแค่หน้าละครึ่งเท่านั้น! แต่ผมคิดว่ารายงานนั้นเป็นรายงานที่ดีที่สุดในชีวิตของผมเลย มีเพื่อนบางคนมาบอกผมว่าทำแบบนี้ไม่ได้คะแนนหรอก แต่ผลออกมาผมได้เกรด4ในวิชานั้น(รายงานมีคะแนนประมาณ70%ของคะแนนเก็บมั้งถ้าผมจำไม่ผิด) คนที่เนื้อหาทางวิชาการแน่นๆ(เอามาจากหนังสือ)จะได้เกรด3กัน

ผมคิดว่าปริมาณไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพหรอกครับ จะดีกว่าถ้าหากเป็นจากสั่งรายงาน100หน้าไปเป็นแสดงความคิดเห็นหนึ่งหน้ากระดาษA4 อย่างน้อยเราก็จะได้ช่วยกันพัฒนาความคิดของเด็กและสร้างบุคลากรของชาติอย่างแท้จริง ไม่ใช่ผลิตเครื่องถ่ายเอกสารออกมาทำงาน ผมอยากให้ประเทศเรามีการสร้างสินค้าใหม่ออกมาสู่ตลาด ไม่ใช่ก็อปของต่างชาติมาขาย ความจริงคนไทยมีความสามารถแต่ถูกปิดกั้นทางความคิด ทำให้ไม่ค่อยมีคนกล้าที่จะออกนอกกรอบ เพราะถูกสอนมาว่าในหนังสือนั่นแหละถูกต้องและทำในปริมาณเยอะๆยิ่งดี ซึ่งตรงนี้ก็กลายเป็นปัญหาอีก เพราะการถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กทำให้หลายๆคนชอบทำOT ซึ่งผมไม่เห็นด้วยกับการทำOT ทำไมไม่ทำงานให้เสร็จสิ้นในเวลาล่ะ อยากทำเพิ่มก็ควรทำในเวลา แล้ววัดไว้จริงหรือว่าคนทำOTขยันกว่าคนที่กลับบ้านเร็ว ในเวลาทำงานพวกทำOTอาจจะไม่ได้ทำงานอย่างเต็มที่100% แถมเปลืองไฟด้วย ผมอยากให้บริษัทต่างกลับไปทบทวนดูว่าคุณเสียค่าไฟไปเท่าไหร่กับคนทำOT ถ้าเขาหลายนั้นสามารถทำงานทั้งหมดได้ในเวลาจะดีกว่ามั้ย? ปริมาณเวลาที่ทำงานวัดคุณภาพของงานได้หรือ? แถมเรื่องนี้ยังกระทบต่อสถาบันครอบครัวด้วย เพราะคุณกลับบ้านไปลูกก็คงหลับไปแล้ว พอลูกคุณโตขึ้นเขาก็จะทำแบบเดียวกับคุณ โดยมีเหตุผลที่ว่าทำOTเพื่อลูก

นอกเรื่องมาพอสมควรเอาเป็นว่าผมอยากให้การบ้านต่างๆของเด็กเน้นไปที่การพัฒนาความคิดมากกว่าที่จะให้เด็กไปลอกมาส่งครับ กระดาษแผ่นเดียวที่มาจากความคิดของเด็กคนนั้นๆมีค่ามากกว่ารายงาน100หน้าที่ไปลอกมาครับ

วันเสาร์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐

คนจนเล่นหวย-คนรวยเล่นหุ้น

"คนจนเล่นหวย-คนรวยเล่นหุ้น" ประโยคนี้เป็นประโยคที่ผมได้ยินบ่อยมากๆ เพราะคนที่รู้ว่าผมเล่นหุ้นจะนึกว่าผมรวย แต่จริงๆแล้วผมไม่มีเงินมากมายหรอก ที่ซื้อหุ้นเพราะอยากเริ่มสร้างอนาคตและปูทางสู่อิสรภาพทางการเงิน

ช่วงหัวค่ำของวันที่15กพ.50 ขณะที่ครอบครัวของผมนั่งทานอาหารอีสานกันที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง มีพ่อค้าขายฉลากกินแบ่งรัฐบาลเข้ามาขายที่โต๊ะของผม พ่อผมก็มองหาเลขที่ต้องการ แม่ก็พูดขึ้นมาว่า"เก็บเงินให้กานต์(ชื่อเล่นผม)เอาไปซื้อหุ้นดีกว่า" ผมก็ยิ้มๆแล้วมองไปที่คนขายแต่ไม่ได้คิดอะไรนะครับ เมื่อพ่อผมซื้อเสร็จผมจึงถามว่า"ซื้อไปเท่าไหร่" พ่อตอบว่า"95บาท" ผมเลยพูดกับพ่อ,แม่และน้องชายว่า"งั้นสมมติว่าเราเอาเงิน95บาทนี้ไปซื้อหุ้น หุ้นอะไรดี? เอาเป็นปตท.สผ(pttep)แล้วกัน ไม่รู้ว่าราคาวันนี้เท่าไหร่นะ เอาเป็นว่าซื้อที่95บาทจำนวน1หุ้นแล้วกัน แล้วมาดูผลกัน"

อย่างที่ผมได้เคยเขียนไว้ในเรื่องของความเสี่ยงที่ผมเปรียบเทียบหุ้นกับการพนัน คราวนี้เราลองมาคิดดูดีกว่าว่าหุ้นกับฉลากกินแบ่งรัฐบาลอะไรจะดีกว่ากัน
ราคา95บาทเท่ากัน ถ้าขาดทุนหมดตัวก็หมดที่95บาทเท่ากัน แต่หุ้นสามารถนำไปขายตัดขาดทุนได้นะครับ แต่ฉลากกินแบ่งฯจะขายตัดขาดทุนได้อย่างไร ถ้าไม่ถูกรางวัลใครจะมาซื้อต่อล่ะ
เวลาในการที่เราจะได้ลุ้นถึงแค่วันที่1มีนาคม50สำหรับฉลากกินแบ่ง แถมยังไม่สามารถขายต่อได้(ซื้อแล้วซื้อเลย)ถ้าไม่ถูกรางวัลมูลค่าของฉลากใบนั้นจะกลายเป็นศูนย์ แต่ถ้าถูกรางวัลใหญ่ๆก็รวยได้อย่างรวดเร็ว ส่วนหุ้นซื้อวันนี้ขายวันนี้ก็ได้ เวลาให้การลุ้นให้หุ้นขึ้นมีตลอดชีวิต(ของบริษัท)แถมมีเงินปันผลให้อีกทุกๆปี เก็บเป็นมรดกได้ด้วยนะเนี่ย

เราตีความหมายของการซื้อหุ้นและฉลากกินแบ่งฯกันดีกว่า
การที่เราซื้อหุ้นปตท.สผ.เป็นการที่เรานำเงิน95บาทไปแลกสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของบริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน)จำนวน1หุ้น มีสิทธิ์ที่จะได้รับเงินปันผลและออกเสียงโหวตในที่ประชุมผู้ถือหุ้น
ส่วนการซื้อฉลากกินแบ่งฯ เป็นการที่เรานำเงินไปซื้อสิทธิ์ในการลุ้นรางวัลในงวดนั้นๆ
ส่วนโอกาสที่จะโชคดีถูกรางวัลนั้นคงไม่ต้องพูกถึงนะครับ คงทราบกันดีว่ายากมากๆ แค่เลขท้าย2ตัว(โอกาสถูกง่ายที่สุด)ยังมีแค่1%
(บางคนอาจจะบอกว่าตั้ง1%ก็ไม่ผิด)

เอาเป็นว่ารอดูแล้วกันว่าระหว่างฉลากของพ่อกับหุ้นpttepใครจะชนะ(แต่ขอให้ฉลากใบนั้นชนะแล้วถูกรางวัลที่1แล้วกัน^_^)

ส่วนคนจนเล่นหวย-คนรวยเล่นหุ้นผมขอเปลี่ยนเป็นเล่นหวยแล้วเป็นคนจน เล่นหุ้นแล้ว(อาจจะ)เป็นคนรวย

ปล.พ่อผมซื้อเลขอะไรหว่า?

วันอาทิตย์ที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐

Festival Marketing

Festival Marketing หรือการตลาดเทศกาล(ผมไม่รู้ว่าเค้ามีชื่อเรียกเฉพาะรึเปล่า อันนี้ผมมั่วขึ้นมาเอง)
การตลาดในรูปแบบนี้เราเห็นกันได้บ่อยๆ ในทุกๆเทศกาลโดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีเทศกาลสำคัญๆเยอะมากๆ เพราะคนไทยเปิดรับหมดทุกวัฒนธรรม แต่ผมคิดได้อย่างนึงว่าวันสำคัญต่างๆที่รับมาจากต่างชาติที่ทุกคนคิดว่ามันสำคัญ มันสำคัญจริงๆหรือ หรือว่าเรากำลังถูกปลูกฝังให้คิดแบบนั้น ซึ่งผมมองว่ามันเป็นอย่างหลังมากกว่า ลองดูวันวาเลนไทน์ที่กำลังจะถึงนี้นะครับ ร้านส่งดอกไม้ชื่อดัง ร้านขายดอกไม้ต่างๆโดยเฉพาะดอกกุหลาบจะขายดีมากๆ ทั้งยังสามารถโก่งราคาได้อีกต่างหาก(ประมาณว่าถ้ามึงไม่ซื้อก็เตรียมเลิกกับแฟนไปได้เลย) แล้วยังมีร้านช็อกโกแลตที่สามารถขายได้ดีมากๆเช่นกันในเทศกาลนี้ ส่วนราคาผมคิดว่าไม่น่าจะขึ้นนะครับเพราะเป็นFixed Costซะส่วนใหญ่ นอกจากจะออกเวอร์ชั่นพิเศษเป็นกล่องของขวัญสำหรับเทศกาลวาเลนไทน์ รวมไปถึงนาฬิกายี่ห้อหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าในหนึ่งปีมันผลิตมาได้หลายเวอร์ชั่นมากๆ ใครเป็นแฟนพันธุ์แท้คงซื้อตามไม่ทัน ตามห้างสรรพสินค้าจะตกแต่งด้วยสีแดง,รูปหัวใจ,ดอกกุหลาบ,คิวปิด,ฯลฯ

สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือเรากำลังตกเป็นทาสของกระแสทางสังคม(ปลอมๆ)ที่ถูกนักการตลาดสร้างขึ้นมา แล้วเราดันเชื่อว่ามันเป็นจริง ผมขอถามว่าคุณจะเลิกกับแฟนของคุณรึเปล่าถ้าเขาไม่ให้ดอกกุหลาบในวันวาเลนไทน์? คุณจะตายหรือไม่ถ้าไม่มีแฟนในวันวาเลนไทน์? คุณจะขอแค่ได้รับความรักจากวันนี้วันเดียวหรือ? สิ่งต่างๆเหล่านี้เปรียบเทียบได้กับวันพ่อวันแม่ หลายๆคนให้ความสำคัญกับคนที่ตัวเองรักเพียงแค่1วันใน365วัน
ยังมีคนหลายๆคนพยายามหาแฟนให้ได้ก่อนวันวาเลนไทน์โดยเฉพาะสาวๆ(อันนี้เรื่องจริงที่ผมได้รับรู้มาจากเจ้าตัวหลายๆคน) ซึ่งผมว่ามันเป็นเรื่องของการโอ้อวดหรือกลัวขายหน้ามากกว่า(ทีก่อนหน้านี้ยังโสดมาได้)เพราะใครๆก็ต้องรับของขวัญ อันนี้แหละคือจุดอ่อนที่ทำให้เกิดช่องโหว่ขนาดใหญ่จนเกิดกระแสขึ้นมา แล้วนักการตลาดจะอาศัยอารมณ์อันอ่อนไหวมาเป็นเครื่องมือหากิน

แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ผมไม่ได้แอนตี้นะครับ การแสดงความรักเป็นสิ่งที่ดี แต่กรุณาหาของขวัญที่ไม่เดือดร้อนตนเองนัก(ไม่ต้องกลัวแฟนงอน ถ้ามันงอนเรื่องแค่นี้ก็....*_* ) ส่วนคนที่เป็นฝ่ายรับก็อย่าคาดหวังอะไรที่มันเว่อร์มากนัก แค่รักกันก็พอแล้วครับ

ปล.ทำไมไม่เคยมีแฟนในวันวาเลนไทน์วะ อยากรู้ว่าจะหลงไปกับกระแสนี้ด้วยรึเปล่า แต่ช่างเหอะอยู่อย่างนี้แหละดีแล้ว สบายใจดี^_^
บล็อกนี้มันล่อเป้าให้โดนด่ารึเปล่าเนี่ย?

วันศุกร์ที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐

พื้นที่สีเขียว

วันนี้ผมรู้สึกสดชื่นมากที่ได้เดินสูดอากาศบริสุทธิ์ใจกลางเมืองหลวง(ของประเทศไทย)
คุณอ่านไม่ผิดหรอกครับ กรุงเทพมหานครเนี่ยแหละ
สถานที่ที่ผมเอ่ยถึงคือสวนลุมพินีครับ
ผมเดินเล่นนั่งเล่นในสวนลุมนานหลายชั่วโมงทีเดียวและรู้สึกมีความสุขมากๆที่ได้เห็นผู้คนมาออกกำลังกายกัน พาลูกๆมาขี่จักรยานเล่น พายเรือ นอนอ่านหนังสือ และปิกนิก
แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมได้สังเกตุเห็นคือมีชาวต่างชาติเยอะมากๆครับ สัดส่วนน่าจะประมาณ25-30% เท่าที่ผมลองหาสาเหตุในใจดูว่าทำไมชาวต่างชาติถึงชอบมาเที่ยวสวนสาธารณะกัน ผมก็พบว่าวิถีชีวิตของเรากับเค้า(ชาวต่างชาติ)ต่างกันมากครับ เพราะกิจกรรมวันหยุดสำหรับหลายๆชาติในโลกนี้คือการหาสิ่งบันเทิงกับครอบครัวครับ อย่างในอเมริกาพอถึงวันหยุดพวกเขาจะไปดูเบสบอลหรืออเมริกันฟุตบอลกัน ซึ่งคนอเมริกาชอบกีฬาที่แข่งขันกันนานๆมาก อย่างทางยุโรปก็นิยมไปดูฟุตบอลกัน คนดูเกือบเต็มสนามทุกสัปดาห์(ทำไมสนามกีฬาแถวๆนี้มันร้างๆหว่า ยกเว้นกรณีที่มีหงส์กับผีแข่ง)
บางครอบครัวก็จะไปตกปลาตามบึงต่างๆแล้วก็ปิกนิกกัน และตามเมืองต่างๆทั่วโลกนะครับจะมีการห้ามไม่ให้ซื้อที่ดินในส่วนที่เป็นป่าในเมืองเพื่อเก็บไว้เป็นสวนสาธารณะกลางเมือง

เอาล่ะมาพูดถึงฟากของคนไทยบ้าง กิจกรรมยอดฮิตคือนัดเพื่อนไปช็อปปิ้ง ดูหนัง ร้องคาราโอเกะ กินข้าว เดินเล่น ฟิตเนส กิจกรรมทั้งหมดนี้นิยมทำกันในศูนย์การค้า มีบ้างบางครอบครัวที่น่ารักๆจะนิยมไปกันเป็นครอบครัว นอกเหนือจากกิจกรรมเหล่านี้ก็จะมีไปเที่ยวต่างจังหวัดกัน แต่กิจกรรมต่างๆนี้ค่าใช้จ่ายสูงนะครับ ถ้าเทียบกับการทำอาหารไปจากบ้านแล้วไปนั่งปิกนิกกันตามสวนสาธารณะ

ผมอยากเห็นคนไปใช้บริการสวนสาธารณะกันเยอะๆครับ ท่านที่เป็นนักธุรกิจก็สามารถพกโน้ตบุ๊คไปนั่งทำงานขณะที่พาภรรยาและลูกๆไปทำกิจกรรมในครอบครัวพร้อมๆกันได้(กิจกรรมในครอบครัวเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆนะครับโดยเฉพาะต่อพัฒนาการเด็กๆ) ไปออกกำลังกายบ้าง สูดอากาศบริสุทธิ์เพื่อร่างกายของเราบ้างก็ดี ที่สำคัญอากาศบริสุทธิ์เป็นของดีและเราบริโภคมันได้ฟรีๆครับ และพอต่อไปสวนสาธารณะมีไม่พอ พื้นที่สีเขียวของคนเมืองกรุงอาจจะมีเพิ่มขึ้นมาอีกก็ได้นะครับ อย่าเอาแต่สนับสนุนพื้นที่สีเทากันเลยครับ