วันจันทร์ที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐

ข้อคิดจากกระแสจตุคามรามเทพ

ความจริงผมอยากจะเขียนเรื่องนี้มานานแล้ว แต่ไม่อยากขัดต่อกระแสที่กำลังมาแรง ตอนนี้ฝุ่นควันที่ตลบอบอวลได้จางลงแล้ว คงได้ฤกษ์ในการเขียนซะที

ผมมองกระแสจตุคามฟีเวอร์ว่าเหมือนกับยุคตื่นทองในอเมริกา ที่ผู้คนยกพลกันไปขุดทองซึ่งมีผู้คนจำนวนมากที่ต้องผิดหวัง มีเพียงกลุ่มแรกๆเท่านั้นแหละที่ประสบผลสำเร็จ
แน่นอนว่าผู้เล่นที่ลงสนามในการแย่งส่วนแบ่งในตลาดจตุคามย่อมมองเห็นกำไรมหาศาล แต่ในโลกทุนนิยมมันไม่ง่ายขนาดนั้น ที่ไหนมีกำไรที่นั่นย่อมมีคู่แข่ง และยิ่งเป็นธุรกิจที่ไม่มีกำแพงที่จะเป็นอุปสรรคให้ผู้เล่นหน้าใหม่เสียเปรียบ(ต้นทุนการผลิต สิทธิบัตร สัมปทาน) ยิ่งไปกันใหญ่เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนที่อยากร่วมวงสามารถเข้ามาได้โดยไม่มีขวากหนามใดๆมาขวางกั้น บางรายเข้ามาจับเสือมือเปล่าด้วย แสดงว่าไร้กำแพงอุปสรรค
พอมีคู่แข่งมากขึ้นการตั้งราคาก็ต้องต่ำลงด้วย ตามหลักของอุปสงค์-อุปทาน เมื่อถึงจุดๆหนึ่งที่จำนวนจตุคามมากกว่าจำนวนคนในประเทศ นั่นเท่ากับว่าโอกาสที่ผู้เล่นจะกอดคอกันแพ้มีสูงมาก นอกจากจะมีจุดเด่นที่คู่แข่งไม่มี แต่เนื่องจากตลาดจตุคามแทบจะไม่มีอะไรที่จะแสดงให้เห็นถึงข้อแตกต่างใดๆทั้งสิ้น(สังเกตุได้จากการถามคนที่หามาบูชายังไม่รู้เลยว่าจะดูได้ยังไงว่าองค์ไหนแท้หรือปลอม ผมจะบอกไว้ก่อนว่าที่ขายตามวัดยังมีของปลอมขายเลยครับ) นอกจากจะมีเซียนๆมาช่วยปั้นและปั่นให้ดัง(ราคาขายของผู้เล่นไม่ได้เพิ่มครับ จะเพิ่มในตลาดรองนั่นคือแผงพระ แต่จะได้ยอดจองเพิ่มขึ้น)

กลับมายุคตื่นทองดีกว่า ทราบรึเปล่าว่าใครที่ได้ผลประโยชน์มากที่สุดในยุคตื่นทอง???
คำตอบคือ "ลีวายส์"ครับ ผู้ที่มองเห็นโอกาสที่ซ่อนเร้นอยู่คือผู้ชนะที่แท้จริง ในยุคตื่นทองผู้คนต่างตาบอดวิ่งเข้าหาแต่สิ่งที่ตนคิดว่ามีมูลค่ามหาศาล รุมยื้อแย่งกัน แต่ผู้ที่สามารถเปิดตา หยุดเดินแล้วปล่อยให้ผู้คนบรรดาฝูงชนที่บ้าคลั่งเข้าไปแย่งผลประโยชน์อันมีอยู่จำกัดกัน จะมีเวลาที่จะมองเหตุการณ์ และคิดหาขุมทรัพย์ใหม่ๆที่ไม่ต้องไปแย่งกับใคร จนสามารถใช้ประโยชน์จากฝูงชนนั้นได้ แน่นอนว่าจากเหตุการณ์ตื่นทองผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จะมีพวกโรงแรม คนขายจอบ เป็นต้น
สำหรับจตุคามแน่นอนว่าคนที่ได้รับผลพลอยได้คือพวกผลิตกรอบพระ ช่างหล่อพระ โรงงานพิมพ์พระ ร้านทำป้าย โรงพิมพ์ หนังสือพิมพ์ที่ลงโฆษณา ห้างร้านต่างๆที่ให้คนเช่าที่ รวมไปถึงโรงแรม การท่องเที่ยวในจ.นครศรีธรรมราช และสายการบิน แต่ที่ได้มากที่สุดคือจังหวัดนครศรีธรรมราชครับ เพราะค่าเช่าในการทำพิธีที่ศาลหลักเมืองวันละ50,000 บาทและมีคนจองทุกวันครับ ส่วนวัดที่ผู้จัดสร้างจตุคามที่สร้างอะไรให้นั่นผมว่าไม่แน่ว่าจะได้รึเปล่า เพราะถ้าผู้จัดสร้างขาดทุนก็คงไม่มีเงินมาสร้างล่ะครับ

โอกาสหน้าจะมีอะไรมาเป็นกระแสให้ฝูงชนกระโจนเข้าใส่ก็ดูดีๆก่อนนะครับ บางทีโอกาสที่แฝงอยู่อาจจะมีมูลค่ามหาศาลนะครับ

ปล.กระแสจตุคามทำให้เทคโนโลยีในการทำพระเครื่องก้าวหน้าไปมากครับ
ปล.2 ที่ผมเปรียบเทียบกับยุคตื่นทองเพราะผมเห็นว่าทั้งสองสิ่งไม่ยั่งยืนเหมือนกันครับ ยิ่งมีคนมาแสวงหาผลประโยชน์เยอะทรัพยากรก็ยิ่งหมดเร็ว

ไม่มีความคิดเห็น: